วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หมู่บ้านต้านยาเสพติด (หมู่บ้านบ่อมะกรูด ศูนย์เรียนรู้เอาชนะยาเสพติด)

หมู่บ้านต้านยาเสพติด

(หมู่บ้านบ่อมะกรูด ศูนย์เรียนรู้เอาชนะยาเสพติด)


(เยาวชน   เขตสายไหม กทม. ศึกษาเยาวชนบ้านบ่อมะกรูด)




(เยาวชน   เขตสายไหม กทม. ศึกษาเยาวชนบ้านบ่อมะกรูด)

               เรื่องของ ยาเสพติด กำลังกลับมาเป็นปัญหาใหญ่อีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปพักใหญ่ ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอีกรอบ

          กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดย ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด (ศตส.พช.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่ในเรื่องนี้ จึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์ป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสกลับไปใช้ยาเสพติดอีกหลังจากได้รับการบำบัดแล้ว ยุทธศาสตร์ของ ศตส.พช. คือการส่งเสริมหมู่บ้านและชุมชน โดยจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด อย่างยั่งยืนขึ้น แผนของ ศตส.พช. ที่นำมาใช้ดำเนินการครั้งนี้ เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตั้งแต่ปี 2549 ไปจนถึงปี 2551 โดยจัดตั้ง หมู่บ้านต้นแบบ ซึ่งเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด ซึ่งในการพิจารณาของ ศตส.พช. ก็ได้ บ้านบ่อมะกรูด ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นหมู่บ้านต้นแบบตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน
            บ้านบ่อมะกรูด อยู่ห่างจากอำเภอโพธารามประมาณ 7 กิโลเมตร มีชาวบ้าน 1,120 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักที่ทำกันมายาวนาน คือ ทำนาข้าว สวนผลไม้ต่างๆ รวมถึงการทำไร่และเลี้ยงสัตว์ประเภทวัวนม และวัวเนื้อ เมื่อว่างเว้นจากทำอาชีพหลัก คนในหมู่บ้านจะทำงานจักสาน งานฝีมือ เย็บปักถักร้อย เช่น สานตะกร้า กระบุง เป็นอาชีพเสริมภายในหมู่บ้าน ที่นิยมมากเป็นการตัดเย็บตุ๊กตาผ้า จำพวกหมอนอิง พวงกุญแจ ตัดเย็บกระเป๋าหนัง เป็นสิ่งที่ชาวบ้านนิยมทำรองลงมา นอกจากนี้ กลุ่มแม่บ้านยังมีฝีมือในการทำกุนเชียง ข้าวตังหน้าหมูหยอง มะม่วงแช่อิ่ม และกล้วยฉาบ เป็นสินค้าโอท็อปสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี
                 การแพร่ระบาดของยาเสพติดในบ้านบ่อมะกรูด ธัมมสัญญ์ อุ่มเอิบ แกนนำชุมชนบ้านบ่อมะกรูด ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต ว่า ปัญหายาเสพติดเริ่มแพร่ระบาดเข้ามาในชุมชนบ้านบ่อมะกรูดในช่วงปี 2539 และกลายเป็นปัญหาขั้นวิกฤต เมื่อเกิดการลักขโมยข้าวของภายในหมู่บ้าน กระทั่งกลายเป็นปัญหาอาชญากรรม สร้างอันตรายให้กับคนในชุมชน ถึงขนาดว่าบริเวณโรงเรียนมีการซื้อขายยาบ้ากันอย่างโจ๋งครึ่ม ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง

              ในบ้านบ่อมะกรูดตอนนั้นมีผู้ค้ายาเสพติดที่รู้ๆ กัน 41 ครัวเรือน และผู้เสพยาภายในหมู่บ้านที่รับการบำบัด 85 ราย ที่ระบาดมากที่สุดคือ ยาบ้า เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ หมู่บ้านไม่เคยสงบสุขเลย มีปัญหาตลอด จึงไปปรึกษากับอาจารย์ทองสุข ลาลาด ประธานชุมชนบ้านบ่อมะกรูด ว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร เพราะห่วงคุณภาพของคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพราะยาเสพติดที่ระบาดอยู่นั้นไม่ได้ทำอันตรายเฉพาะตัวผู้เสพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย จากการปรึกษาหารือกับ อาจารย์ทองสุข ลาลาด ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้ที่รักและห่วงชุมชนขึ้น ซึ่งต่อมาได้จัดตั้งเป็น คณะทำงานเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด ขึ้นในหมู่บ้าน วิธีการเริ่มแรกที่คณะทำงานใช้ในการแก้ไขปัญหา คือการเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นผู้เสพยาหรือติดยา โดยมีหลักยุทธศาสตร์ 3 ประการ ได้แก่ ยุทธศาสตร์หยุดยั้งเพื่อประกาศให้เป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติดอย่างเด็ดขาด คำว่า หยุดยั้ง คือหยุดยั้งการค้า หยุดยั้งทั้งผู้เสพ และไม่ให้มีผู้ติดยาเพิ่มขึ้น ธัมมสัญญ์บอกว่า การหยุดยั้งการค้า ยังประสานกับส่วนราชการ ได้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายอำเภอ และอาสาสมัครในหมู่บ้าน คอยส่งข่าวให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง และขอร้องให้คนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลิกเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้
ที่สำคัญ คือขอความร่วมมือกับคนในชุมชนให้สอดส่องพฤติกรรมของคนในชุมชนเอง ว่ามีการลักลอบซื้อขายยาเสพติดในชุมชนหรือไม่ ถ้าพบเห็นพฤติกรรมดังกล่าว จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมทันที โดยไม่มียกเว้น ตัวแทนกลุ่มเยาวชนคุณธรรม สายใยรักแห่งครอบครัว
ส่วน ยุทธศาสตร์การหยุดยั้งผู้เสพ เป็นการแนะนำให้ผู้เสพไปบำบัดรักษาอาการติดยา โดยคณะทำงานจะติดต่อประสานกับโรงพยาบาลโพธาราม เพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปบำบัดรักษา ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมีบัตรประจำตัว ถ้าใครมีบัตรนี้แล้วตำรวจไม่สามารถจับกุมได้ เพราะถือว่าเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาล แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการติดยาขั้นรุนแรง จะส่งตัวไปที่ วัดวังผาแดง จ.กาญจนบุรี และ วัดอินทราราม จ.สมุทรสงคราม เพื่อบำบัดรักษา
ต่อจากนั้นจะเป็นการใช้ ยุทธศาสตร์หยุดยั้งไม่ให้ติดเพิ่ม โดยใช้กิจกรรมต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อไม่ให้เยาวชนไปหมกหมุ่นกับยาเสพติด เช่น ศึกษาดูงาน จัดค่ายเยาวชน จัดแข่งขันกีฬาภายในหมู่บ้าน เป็นต้น  ธัมมสัญญ์บอกว่า การทำงานต่อต้านยาเสพติดที่กล่าวมา เป็นการใช้งบประมาณของชุมชนอย่างเดียว ไม่มีการสนับสนุนจากข้างนอกหรือจากทางราชการ ขนาดเขียนป้ายต่อต้านยาเสพติดยังต้องใช้ผ้าคลุมศพเลย บางทียังต้องใช้ฝาโลงเก่าๆ ที่ได้จากวัดมาทำเป็นป้าย ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ คนในชุมชนต้องช่วยกันเรี่ยไร
              จนปี 2544 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จึงได้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนด้านงบประมาณ เพราะเห็นว่ากิจกรรมที่ชาวบ้านบ่อมะกรูดทำนั้น ได้ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง และส่วนหนึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน มีการใช้กลไกการทำงานแบบ ราษฎรอาสา จนสามารถจัดตั้งเป็น เครือข่ายบ้านบ่อมะกรูดร่วมมิตร และ เครือข่ายชุมชนบ้านฆ้องร่วมมิตร แก้ไขปัญหาทั้งกับผู้ค้าและผู้เสพอย่างได้ผล จนสามารถก่อตั้งเป็น ศูนย์ประสานงานบ้านบ่อมะกรูด หมู่ 7 เป็นที่ทำการและรับแจ้งเรื่องเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ปัจจุบัน ธัมมสัญญ์เองได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ ศตส.ภาคประชาชนแห่งชาติ และให้บ้านบ่อมะกรูดเป็น ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดภาคประชาชนจังหวัดราชบุรี (ศตส.ปชช.จ.ราชบุรี)

                สำหรับแผนชุมชนแก้ปัญหายาเสพติดในปี 2550 ธัมมสัญญ์บอกว่า เป้าหมายคือจะเน้นการสร้างผู้นำชุมชนให้ลุกขึ้นมาพูด คิด นำเสนอ รับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่นของตนเอง และให้เกิดการเรียนรู้และการทำงานจริงควบคู่กันไปโดยเฉพาะผู้ติดยา จะมีการฟื้นฟูศักยภาพ และพัฒนาให้มีความรู้จนสามารถมีอาชีพ หารายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว สามารถเปลี่ยนจากผู้ติดยามาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติสุข เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของชุมชนอีกครั้งไม่เฉพาะการสร้างกลุ่มผู้นำเท่านั้น บ้านบ่อมะกรูดยังได้จัดตั้ง กลุ่มเยาวชนคุณธรรม สายใยรักแห่งครอบครัว เพื่อระดมเยาวชนที่ใสสะอาดมาร่วมกันคิด ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของท้องถิ่น ซึ่งเป็นวิธีการผลิตเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีส่วนร่วมพัฒนาสังคมให้อยู่อย่างสงบและมั่นคง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เป้าหมายที่ดึงเยาวชนเข้ามาก็เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน จากเดิมที่เป็นพวกบริโภคนิยม ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่เคารพผู้ใหญ่ ชอบก่อกวน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม ให้กลับมาเป็นคนที่รู้จักผิดชอบชั่วดี โดยกิจกรรมหนึ่งที่ให้เด็กๆ ทำ คือบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายภายในครัวเรือน ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยภายในบ้าน และทำให้ครอบครัวมีเงินเก็บออมมากขึ้น เด็กๆ เองจะได้มองเห็นและเข้ามาช่วยงานบ้าน เช่น เลี้ยงปลา ปลูกผัก เป็นต้น

                  บ้านบ่อมะกรูด ต.บ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จึงนับเป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็งที่สามารถต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติดด้วยพลังชุมชน มีพัฒนาการที่ดีจนเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ โดยเฉพาะการสร้างระบบการเรียนรู้และพัฒนาชุมชนอย่างเป็นระบบ
เป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่นได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป


อ้างอิง : http://www.magrood.com/index.php?page=alias-41

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น